แนวปฏิบัติการดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของ สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีนโยบายในการเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปในการแจ้งข้อมูลการร้องเรียนร้องทุกข์ ปัญหา ความเดือดร้อน ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ของ สสวท. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนี้ 1. เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของ สสวท. หมายถึง เรื่องราวที่ สสวท. หรือหน่วยงานภายใน สสวท. หรือเจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัด สสวท. เป็นผู้ถูกร้องเรียน เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัด สสวท.ไม่เหมาะสม และเรื่องราวที่ผู้ร้องเรียนซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย ประสงค์ให้ได้รับ การปลดเปลื้องความทุกข์ที่ตนได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ของ สสวท.หรือปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัด สสวท.ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้รวมถึงบัตรสนเท่ห์ที่ระบุหลักฐาน กรณีแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอนด้วย 2. ประเภทของเรื่องที่รับร้องเรียนและร้องทุกข์ ได้แก่ 2.1 ข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตหรือการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ 2.2 ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการตามภารกิจของหน่วยงาน 2.3 ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง 3. ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของ สสวท. มีดังนี้ 3.1 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ (การติดต่อด้วยตัวเอง ณ อาคารอำนวยการ สสวท. ชั้น 3 หรือกล่องร้องเรียนร้องทุกข์ ชั้น 1) 3.2 ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของ สสวท. ได้แก่ (1) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ocs@proj.ipst.ac.th (2) เวบไซต์ของสำนักงาน http://www.ipst.ac.th ในเมนูหัวข้อ “ร้องเรียน ร้องทุกข์” (3) ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook 3.3 ช่องทางไปรษณีย์ ส่งถึง “ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ที่อยู่ “สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขที่ 924 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร10110” วงเล็บมุมซอง “เรื่องร้องเรียน” 3.4 ข้อร้องเรียนที่มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่นๆ 4. การดำเนินการกรณีเรื่องร้องเรียน กำหนดให้ดำเนินการเป็นเรื่องลับ และต้องดำเนินการเรื่องร้องเรียนตามระเบียบว่าด้วยความลับของ ทางราชการภายใต้กรอบขั้นตอนของศูนย์บริการประชาชน (GCC) ด้วย โดยส่งเรื่องให้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดำเนินการที่กำหนด 5. ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้ 5.1 ให้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ส่งเรื่องให้นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับ ลงทะเบียนรับเรื่อง 5.2 นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับเสนอเรื่องผู้อำนวยการวินิจฉัยสั่งการ 5.3 นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับ/หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการตอบรับรับเรื่องแก่ผู้ร้องเรียน/ผู้ร้องทุกข์ ภายใน 15 วันนับแต่วันรับเรื่องร้องเรียน 5.4 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ และจะต้องติดตามการดำเนินการโดยตลอดจนกว่าจะเสร็จสิ้น รวมถึงแจ้งผลการดำเนินการให้แก่ผู้ร้องเรียน/ผู้ร้องทุกข์ ทราบตามที่อยู่หรือช่องทางการติดต่อที่ผู้ร้องเรียน/ร้องทุกข์แจ้งไว้ ส่งสำเนาผลการดำเนินการให้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ทราบด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารราชการที่ดี พ.ศ. 2546 รวมถึงการให้ความคุ้มครองผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องด้วย 6. ในกรณีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ จำเป็นจะตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ เกินกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง จะต้องจัดทำรายงานเหตุผลความจำเป็นพร้อมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ผู้อำนวยการรับทราบเพื่อขอขยายเวลาการดำเนินงานและแจ้ง ความคืบหน้าให้ผู้ร้องเรียนร้องทุกข์ทราบ ทั้งนี้ การขยายเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันได้รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ 7. สสวท.จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน ประเภท และผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ซึ่งแสดงสถิติและรายละเอียดของการร้องเรียนร้องทุกข์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ เป็นการทั่วไป ณ เว็บไซต์ของสำนักงาน http://www.ipst.ac.th และทางอื่นใดที่ผู้ใช้บริการและประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย |